ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 12
ดูงานสร้างบ้านของผู้รับเหมา (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว ไม่ใช่สิ ตอนก่อนนู้น.....
ผมเล่าถึงการตระเวนดูงานสร้างบ้านของผู้รับเหมาทั้ง 9 ราย รวม 10 ไซต์งาน
ไปบ้างบางส่วน ( ล่าสุดเป็น 10 รายแล้วครับ )แต่รู้สึกยังไม่จุใจ
ขอต่อมาตอนนี้อีกนิดละกันนะครับ

ต้องออกตัวก่อนว่า ที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นมุมมองของผมนะครับ
ไม่อิงสาระวิชาการใดๆทั้งสิ้น เป็นมุมมองจากคนที่กำลังจะสร้างบ้าน
ซึ่งเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง มาเล่า...
และ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้คนที่กำลังจะสร้างบ้านเหมือนกันได้รับรู้
อาศัยว่าเป็นพวกชอบตั้งข้อสังเกต ขี้สงสัย
และชอบจับประเด็นมาเล่าให้คนอื่นๆฟัง ก็เลยออกมาอย่างที่เห็น

คอนซัลแทนซ์คุยกับผมก่อนออกเดินทางว่า
จาก 10 รายที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น
คุณหมอต้องเลือกเจ้าที่ชอบมา 4 ราย เพื่อให้เค้ามารับแบบไปตีราคากัน
( เดิมที จะคัดไว้เบื้องต้น 3 ราย แต่ตอนหลังเราปรึกษากันว่า น่าจะซัก 4 )

ผมก็มาคุยกับแฟนว่า...
เราต้องมาตีความคำว่า “ที่ชอบ” ก่อนว่าหมายถึงอะไร อะไรคือที่ชอบ

ตอนแรกกะว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความซะหน่อย เห็นนักการเมืองนิยมนัก
(ผมนี่ชอบนอกเรื่องทุกทีเลย แฟนบอก) แต่เรามันแค่นักการมุ้ง ( อะ..จื้ย)
ชวนกันเข้ามุ้งดีกว่า เอ้ย ชวนกันมาหาคำตอบให้ตัวเองดีกว่า

เราก็เลยได้ข้อสรุปว่า เราจะให้คะแนนในการตระเวนดูงานคราวนี้ เป็น 3 ส่วน

หนึ่ง ฝีมือช่าง คุณภาพงาน
สอง ประสบการณ์การทำงาน
สาม ตัวผู้จัดการ หรือ เจ้าของบริษัทรับเหมา

แต่ละส่วน คะแนนไม่เท่ากันนะครับ
บางพาร์ทผมให้คะแนนสูงกว่าพาร์ทอื่น แต่ขออุบไว้หน่อย
เดี๋ยวผู้รับเหมาที่เสนอตัวมาเข้ามาอ่านเค้าจะรู้ไต๋ผมหมด

เรื่องฝีมือช่าง และคุณภาพงาน
ส่วนนี้จะประจักษ์ได้โดยการทัศนา ( โห สำนวน ) ก็คือจากการดูงานคราวนี้แหละครับ

แต่บอกก่อนนะว่าไม่ได้ไปจับผิดอะไรเค้า (แม้จะเห็นเยอะก็เหอะ)
บางเจ้าก็มีจุดเด่นในเรื่องนี้ บางเจ้าก็ด้อยกว่านิดๆ บางเจ้าก็ด้อยกว่ามากๆ
แต่โดยรวมแล้ว ก็ไม่ได้หนีกันมาก

ผมว่ามันเป็นเรื่องของความใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า
ที่จะทำให้ผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งโดดออกมาจากกลุ่ม
ทำให้แยกแยะได้ว่า อันไหนคือ “เนี๊ยบ” อันไหนคือ “ ฟลอร์ ๆ” ( งงละสิ “พื้นๆ”ครับ )

หนึ่งในงานพื้น ที่ไม่พื้นๆ

จากผู้รับเหมาที่เสนอตัวมา...
ผมกับแฟนแบ่งกลุ่มผู้รับเหมา ตามฝีมือและคุณภาพงานออกเป็น 2 กลุ่มครับ

ถ้าจะเปรียบเทียบเป็นเด็กนักเรียน
เราก็จะพบว่า ในชั้นเรียนหนึ่งๆ จะมีทั้งเด็กเรียนเก่ง ชอบนั่งหน้าห้อง
กับเด็กหลังห้อง ที่เรียนบ้าง เล่นบ้าง เกเรบ้างปนๆกันไป

แม้ว่าทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถเรียนจบได้เหมือนกัน
แต่จะจบด้วยเกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ ใครเกรดดีกว่าใคร อันนี้คงตอบได้ไม่ยาก

( สมัย ม.ปลาย ผมชอบนั่งโซนไหนเหรอครับ
อิอิ ที่ไหนก็ได้ครับ ขอให้ใกล้สาวๆเป็นใช้ได้ J )

หน้าที่ของเราสองคน...
ก็คือต้องเฟ้นหา 1 ใน เด็กหน้าห้องกับเด็กหลังห้อง
(ที่มีแววว่า หากเอามาติวหรือเรียนพิเศษนิด
ครูคุมเข้มอีกหน่อย ก็จะขยับมาเป็นกลุ่มเด็กเก่งได้ ) มาอุปการะ

ถ้าเด็กเก่ง แต่ใช้เงินเปลือง อันนี้ก็ไม่ไหว
อาจจะต้องหันไปอุปการะค่าเทอมเด็กหลังห้องที่อัพเกรดตัวเองขึ้นมา
แต่ประหยัด ใช้เงินไม่มากแทน
( ถ้าเป็นเด็กมหาลัยหน้าตาน่าเอ็นดู ผมจะไม่คิดมากเลยนะเนี่ย )

ผลงานเด็กหน้าห้อง ดูความเนี๊ยบครับ

เทียบกับผลงานเด็กหลังห้อง อาจไม่เนี๊ยบเท่า แต่ถ้าครูเฮียบนิด ติวหน่อยก็น่าจะดีขึ้น

ไม่รู้ว่ายิ่งเปรียบเทียบ ยิ่งงงรึเปล่าครับ

แต่อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนก่อน ว่า การเปรียบเทียบคุณภาพงานในจุดนี้
ต้องเปรียบเทียบที่เฟสของงานที่ใกล้เคียงกัน

เช่น ถ้าเจ้าหนึ่งกำลังทำงานระบบ
ก็ต้องเทียบกับอีกเจ้าที่กำลังวางระบบเหมือนกันหรือใกล้เคียง อย่าต่างกันมาก
ถ้าเจ้าหนึ่งเริ่มงานทาสีแล้ว เราไปเปรียบเทียบกับอีกเจ้าที่กำลังเทพื้น
มันก็คงไม่แฟร์กับเค้าเท่าไหร่

งานที่ยังไม่ทำสี

กับงานที่ทำสีแล้ว จะมาเปรียบเทียบกัน ก็ยังไงอยู่

ดังนั้นทั้ง 10 เจ้า ผมเลยใช้วิธีจับกลุ่มเปรียบเทียบกันเป็นคู่ๆครับ
เช่นคู่ A กับ B กำลังทำงานสี คู่ C กับ D กำลังเก็บงาน
แล้วหาผู้ชนะของแต่ละคู่เข้ารอบต่อไป
( เหมือนรอบน็อคเอาท์ฟุตบอลโลก หรือแข่งเทนนิสอะไรประมาณนั้นน่ะครับ )

พอผ่านเข้ารอบต่อไปแล้ว...
อาจจะเปรียบเทียบผลงานกันยาก เพราะงานคนละเฟสกันแล้ว
แต่ผมก็จะเอาคะแนนจากข้ออื่นๆมาวัดกันอีกที พอได้ไอเดียนะครับ

คุณภาพของงานที่ออกมา เราต้องแยกแยะด้วยนะครับ
ว่าอันไหนเป็นส่วนที่ผู้รับเหมาทำ หรือรับผิดชอบ

เพราะบ้านที่ไปดูบางหลัง ดูโดยรวมแล้วโอเค
งบก่อสร้างก็ไม่แพงมาก วัสดุที่ใช้ก็ดูดี แต่พอถามไปถามมา

อ้าว บานประตูไม้สักเจ้าของหามาเอง
พื้นไม้มะค่าเจ้าของก็หามาเอง วงกบยูพีวีซี เจ้าของก็จ้างที่อื่นมาติด

นับดูแล้วมีเฉพาะงานโครงสร้าง งานระบบ ฉาบปูนทาสี เท่านั้นเอง
ที่ผู้รับเหมาทำ แบบนี้ราคาค่าก่อสร้างที่ว่าไม่แพง อาจจะกลายเป็นแพงก็ได้นะครับ

เพราะฉะนั้นอย่าหลงกับภาพลวงตาที่เห็น วัสดุที่ดูดีมีเกรด
ย่อมทำให้บ้านดูดีขึ้น จนทำให้เรามองข้ามเรื่องฝีมือของช่างไป

นอกจากนี้ ราคาที่ผู้รับเหมารับมา
ก็เป็นประเด็นนึงที่ต้องนึกถึงระหว่างเปรียบเทียบงาน

บางหลังที่ผมไปดู ตกตารางเมตรละ 14000
ขณะที่อีกหลังผู้รับเหมารับสร้างในงบ 8000

แหม ! จะเอามาเปรียบเทียบกัน ก็เหมือนเอามวยเฮฟวี่เวทมาชกกับฟลายเวท
เราก็ต้องเข้าใจ และให้แต้มต่อเค้านิดนึง
ถ้าจะให้ดีก็เลือกไปดูหลังที่ราคาสูสีกันหน่อยจะดีกว่า จะได้รู้ว่า
ที่ราคาประมาณนี้ คุณภาพของทั้ง 2 เจ้าแตกต่างกันอย่างไร

แต่ก็ต้องถามให้ละเอียดนะครับ...
บางที่บอกผมว่า ค่าก่อสร้าง 18000 ต่อตารางเมตร
ทำเอาผมและคอนซัลแทนซ์อึ้งไปเลย เพราะดูๆไป ก็ไม่ได้ใช้ของเกรดดีมาก

แต่พอถามไปถามมา อ๋อ ราคานี้รวมทุกอย่าง แอร์ บิลด์อิน ชุดครัว
แหม ! แล้วเฮียก็ไม่บอกแต่แรก

ไซต์งานล่าสุดที่ไปดูมาครับ สังเกตุว่า แฟนผมเลิกใส่รองเท้าส้นสูง
หันมาคบกับรองเท้าแตะแทนแล้วครับ

เรื่องประสบการณ์การก่อสร้างของผู้รับเหมา
อันนี้เข้าใจง่ายครับ ใครๆก็อยากได้คนมีประสบการณ์มาสร้างบ้านให้
แต่ของอย่างนี้ ถามผู้รับเหมาเจ้าไหน
ก็ต้องตอบว่าตัวเองมีประสบการณ์ทั้งนั้นแหละครับ

บางคนบอก 10 ปี บางคนบอก 20 ปี
บางคนบอก 30 หลัง บางคนบอก 40 หลัง ก็แล้วแต่จะอ้างครับ

แต่ถ้าขอดูผลงานอ้างอิง ผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเก็บไว้ แปลกมั้ยล่ะ
(หรือไม่ค่อยภูมิใจฝีมือตัวเองเลยไม่ค่อยเก็บรูป เก็บประวัติไว้รึไงนะ)
คะแนนในข้อนี้ ก็เลยขึ้นกับผลงานอ้างอิงเป็นหลัก
ใครมีก็บวก ใครไม่มีก็ไม่ได้คะแนนไป

ประสบการณ์อีกอย่างที่ผมให้ความสำคัญก็คือ...
เคยทำบ้าน หรือร้านอาหารสไตล์เดียวกับบ้านผมรึเปล่า
( มีคนบอกว่า บ้านผมเหมือนร้านอาหารมากกว่า อืม ก็จริงนะ
หรือเปลี่ยนเป็นเปิดร้านอาหารแทนดีมั้ยเนี่ย )

ถ้าเคย ก็ขอดูผลงาน เพราะบ้านผมมันออกแนวโมเดิร์น
เราก็อยากได้คนที่เคยทำบ้านแนวๆนี้ถูกมั้ยครับ
แต่ถ้าบ้านเพื่อนๆเป็นสไตล์ทั่วไป ก็คงไม่ค่อยมีปัญหา

คะแนนข้อสุดท้าย เป็นคะแนนของตัวผู้รับเหมา ผู้จัดการ หรือเจ้าของบริษัท

ก่อนอื่นผมจะพยายามสกรีนเลือกผู้รับเหมา
ที่ดำเนินการในรูปบริษัทมากกว่าผู้รับเหมาที่ทำคนเดียว

ยิ่งประเภท ขับรถกระบะคันเดียวตระเวนหางานนี่
ผมไม่เอาเลยครับ! ไม่รู้หลักแหล่งแน่นอน ความเสี่ยงสูง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พอเป็นบริษัทแล้ว จะไม่เสี่ยงนะ ต้องดูอย่างอื่นประกอบอีกที

ตอนตระเวนดูงาน เราไม่ได้แจ้งผู้รับเหมาล่วงหน้าว่าจะไปวันไหน เมื่อไหร่ครับ
แต่การที่เราไปแล้วเจอผู้รับเหมาอยู่คุมงานด้วย ก็ดูดีกว่าไม่เจอใครเลยใช่มั้ยครับ

ที่ไหนที่ไปแล้วเจอ ผมก็จะพูดคุย
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทัศนคติในการทำงานด้วย

แต่ที่ไหนที่ไม่เจอ บางที่ไม่มีแม้คนคุมงาน
มีแต่คนงานทำงานกันเอง อันนี้คะแนนหดหายหมดครับ ขอบอก

ยิ่งถ้าผมได้ยินคนงานคุยกัน แต่ไม่ใช่ภาษาไทยสำเนียงภาคใดๆ แล้วล่ะก็
ตัดทิ้งเลยครับเจ้านั้น (บ้านผมไม่ต้องโกอินเตอร์ขนาดใช้ชาวต่างชาติมาสร้างก็ได้นะ)

บรรยากาศการทำงานในไซต์งานที่ตระเวนดูมา

ระหว่างที่พูดคุยกับผู้รับเหมา...
ผมก็จะดูแนวคิดในการทำงาน แนวคิดต่ออาชีพของเค้า
ต่อเจ้าของบ้านที่ผ่าน ๆ มา ต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมอาชีพ

มีเหมือนกันนะครับ บางคนงานดี
แต่พอพูดคุยถึงเจ้าของบ้านหลังนั้น แกก็ติ
พูดถึงผู้รับเหมาคนนี้ แกก็ติ อย่างนี้ผมก็ไม่เอาเหมือนกัน
(เหอะๆ กลัวเอาเราไปติให้คนอื่นฟังทีหลังอีกคน )

นอกจาก 3 ข้อหลักที่ผมใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาผู้รับเหมาแล้ว
จริงๆ ยังมีข้อ 4 อีกข้อครับ

ข้อนี้ไม่มีเหตุผล ไม่มีคำอธิบาย มีแค่ชอบกับไม่ชอบ
อธิบายไม่ได้ เหมือนความรักน่ะครับ
รู้ว่ามีอยู่จริง แต่บรรยายหน้าตาไม่ได้ ( วิ๊ด...วิ้ว )
เป็นข้อที่ใช้ความรู้สึกล้วนๆมาตัดสินครับ

ข้อนี้ แฟนผมถนัด...!
เธอบอกว่า ดูว่าถูกชะตาด้วยรึเปล่าเป็นหลัก ไม่มีเหตุผลประกอบ
แต่ถึงแม้จะใช้ 4 ข้อมาช่วยคัดเลือกผู้รับเหมา
พอเอาเข้าจริง มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นครับ ต้องคิดแล้วคิดอีกหลายตลบ

แต่ในที่สุดผมก็ได้ 4 ผู้รับเหมาในใจมาแล้ว
ตอนนี้ก็เหลือแต่รอแบบพิมพ์เขียวเสร็จ ให้แต่ละเจ้าไปถอดราคามาประมูลต่อไป

หลังจากนั้น ก็ขึ้นกับราคาที่ผู้รับเหมาจะเสนอมาแล้วครับ

 

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com