ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 15
แบบพิมพ์เขียว เสร็จแล้วจ้า !

Yeah ! หลังจากที่รอคอยมาน้านนาน...
เจอใครก็มีแต่คนถามว่า “สร้างบ้านไปถึงไหนแล้ว”
ผมเองก็ได้แต่อ้อมแอ้มตอบกลับไปว่า “รอแบบบ้านครับ”

ตอบบ่อยซะจนคิดจะทำป้ายแขวนคอไว้เลย จะได้ไม่ถามมาก
บางคนมีแซว “ของพี่มุงหลังคาแล้วนะโว้ย”
“ถ้าบ้านพี่เสร็จ เอ็งจะขึ้นเสารึยังเนี่ย” เอากันเข้าไป

ล่าสุด แบบพิมพ์เขียวบ้านผม เวอร์ชั่น 1.0 ก็สำเร็จเสร็จสิ้นเสียที

ทีงี้ละก็...ไม่ยักจะมีใครมาถามเลยแฮะ

นี่ครับ หน้าตาพิมพ์เขียวบ้านผม

มันไม่ได้เขียวอี๋อย่างชื่อหรอกครับ สมัยนี้เทคโนโลยีไปไกลถึงไหนต่อไหนแล้ว*

แบบที่ผมได้รับจากสถาปนิกก็เลยเป็นกระดาษขนาด A3 ถึงกว่า 50 แผ่น
แต่ละแผ่นนี่รายละเอียดยุบยับไปหมดครับ
(พอเข้าใจแล้วว่า ทำไมถึงต้องรอนาน )

แปลนชั้นล่าง มีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด

อันนี้ ด้านข้างบ้านครับ อาจจะดูยากนิดนึง คราวหน้าจะเอารูปสวยๆให้ดูครับ

สถาปนิกเอามาให้ผมดูก่อน เผื่อผมกับคอนซัลแทนซ์จะแก้ไขอะไรเพิ่มเติม

...ก่อนที่ตัวแกจะขอลาไปอุปสมบท 1 สัปดาห์
( โห ลิเวอร์พรุน แพ้แมนยู 3-0 นี่ถึงขนาดหนีไปบวชเลยเหรอเนี่ย)

ตอนแรกผมก็กะจะยกให้คอนซัลแทนซ์ไปดูเองทั้งหมด (ผลักภาระเห็นๆ )
แต่พอโดนทัก บวกกับลองเปิดอ่านเอง 2-3 หน้า
ก็คิดว่าน่าจะดึงมาดูเองด้วย

เพราะถึงแม้คนออกแบบจะได้ข้อมูลจากเราไปมากขนาดไหน
แต่ก็คงจะไม่ได้ตามที่เราคิดทั้งหมด

ผมก็อปปี้พิมพ์เขียวเวอร์ชั่นแรกนี้อีก 2 ชุดครับ
อันนึงเก็บไว้เอง อีกอันให้แฟนเอาไปพับถุง
เอ้ย! เอาไปอ่านก่อน

แต่ก็อย่างว่าอ่ะนะ
พอเราถาม คุณเธอก็บอก “อ่านไม่เป็น อะไรก็ไม่รู้”
สุดท้ายผมก็เลยใช้วิธีนัดหมายเวลาเพื่อทำ Tele(phone) conference ครับ

พูดให้ดูอินเตอร์ไปงั้นแหละครับ
จริงๆแล้ว ผมกับแฟน ก็ใช้วิธีโทรคุยกัน

เพียงแต่พอต่างคนต่างมีก็อปปี้พิมพ์เขียวในมือ ก็เลยคุยกันง่าย

“ นี่น้องจ๋า ดูที่แผ่น A-15 ซิจ๊ะ
พี่ว่าประตูทางเข้าโถง D4 น่าจะเป็นบานเลื่อนนะจ๊ะ”

“ ที่รักจ๊ะ แผ่น A-6 ผนังห้องนอนใหญ่
ด้านใกล้หน้าต่าง W5 พี่ว่าเราทำบิลด์อินตู้เสื้อผ้าดีมั้ยจ๊ะ”

ฮ่าๆๆ แหม ผมไม่หวานกับแฟนจนเลี่ยนขนาดนั้นหรอกครับ
จริงๆบทสนทนาของผมกับแฟน มันต้องออกแนวโจ๋ๆหน่อยๆ
ประมาณว่า...

“ เฮ้ย อะรายว้า ประตูเปิดงี้ได้งาย ” หรือออกแนวฮาร์ดคอร์แนวๆ
“ ไอ้สั..ว์เอ้ย ไฟดาวน์ไลท์ทำไมมันวางยังงี้วะ ”

เปล่าหรอกครับ ! ก็คุยกันธรรมดานี่แหละ

ขืนคุยกับแฟนแบบนั้น ผมโดนแฟนเบิ๊ดกะโหลกกันพอดี

ตรงไหนที่เราคุยกันแล้วจะให้แก้ หรือมีข้อสงสัย ผมก็มาร์คด้วยไฮไลท์ไว้เลยครับ

สัญลักษณ์ที่ใช้ในงานระบบไฟฟ้า

สัญลักษณ์ในงานสุขาภิบาล

กลับมาว่าเรื่องพิมพ์เขียวกันต่อดีกว่า

จริงๆแล้ว พิมพ์เขียวมันก็ไม่ได้อ่านยากนักหรอกครับ
( ขนาดแฟนผมยังอ่านได้เลย คิดดู )

เพียงแต่จะมีพวกสัญลักษณ์ เยอะซักหน่อย...
แต่ก็มีคำบรรยายสัญลักษณ์เหล่านั้น ว่าอะไรเป็นอะไร 

ผมว่าถ้าเพื่อนๆมีพิมพ์เขียวในมือแล้ว ควรจะยอมสละเวลามานั่งอ่านรายละเอียดบ้าง
( ผมใช้คำว่าสละเวลา ไม่ใช่เสียเวลานะครับ) เพราะจะทำให้เราเข้าใจบ้านเรามากขึ้น

อันไหนปรับได้ แก้ได้ ก็แก้ซะบนกระดาษนี้ ดีกว่ามาแก้ไขทีหลัง

ลองนึกถึงคนที่ซื้อบ้านจัดสรรสิครับ
บางโครงการ เค้าไม่ให้แบบพิมพ์เขียวด้วยซ้ำ
(คงกลัวว่า ดูแล้วจะเห็นว่าไม่เหมือนที่สร้างจริง )
จนเป็นเรื่องเป็นราวออกทีวี หรือร้องเรียน สคบ. อยู่เนืองๆ 

อันนี้ เราสร้างเอง มีแบบอยู่กับมือ
ก่อนจะสร้างจะแก้จะไขยังไงก็ทำได้ (ถ้ามีเงินนะ)

ถ้าไม่ให้เวลากับมันเลย...
เราก็ไม่ต่างอะไรกับคนซื้อบ้านจัดสรรแล้วไม่ได้พิมพ์เขียวหรอกครับ

อย่างกรณีของผม พอเอามาดูแล้วก็พบว่า ยังมีอีกหลายจุดที่อยากจะแก้ไข
เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตเรา 2 คน ซึ่งบ้านอื่นอาจจะไม่เหมือนผมก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น จุดที่จะวางโทรทัศน์
ผมไม่ชอบดูทีวีในห้องนอน และไม่อยากให้มีทีวีมากเครื่องในบ้าน

( ผมเคยไปเยี่ยมบ้านอาจารย์หมอท่านนึง อยู่กัน 5 คน มีทีวี 5 เครื่อง !
พบว่าลูกชายวัยประถม 3 คน แยกกันอยู่หน้าจอทีวี คนละเครื่อง คนละห้อง
ไม่ค่อยออกมาเล่นด้วยกัน เหมือนสมัยเมื่อเรายังเด็ก แย่งกันดูทีวีเครื่องเดียว )

ผมก็เลยน่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในบ้าน ดูทีวีอยู่ตามห้องทานอาหาร
หรือห้องพักผ่อนชั้น 2 ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว
(ที่ตอนนี้ยังมีกันแค่ 2 คน ) เป็นส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้นการเดินสายทีวีไปตามห้องอื่นๆก็อาจจะเกินความจำเป็นสำหรับผม

สถาปนิกเคยแย้งผมว่า น่าจะเดินสายจุดต่อทีวีทิ้งไว้
เดี๋ยวมีลูก ลูกโต พี่หมอก็อยากจะแยกไปดูทีวีกันเองในห้อง
หรือลูกก็อาจจะอยากมีทีวีเป็นของตัวเองในห้องนอน ...จะได้ไม่ต้องมาทำเพิ่ม

แต่ผมกับแฟนยืนยันเหมือนเดิมครับ
มันอาจไม่กี่ตังค์ที่จะทำในตอนนี้

แต่ถ้าอนาคต พอลูกโตแล้วต้องเหมือนบ้านอาจารย์หมอ
ผมว่า ไม่ต้องทำซะแต่แรกดีกว่า

ประเด็นก็คือ (กว่าจะเข้าประเด็นได้ )
พอเหลือจุดที่จะมีทีวีแค่ 2 ห้อง...
ไอ้ 2 ห้องที่ว่า ก็ดันมีกระจกซะเกือบรอบด้าน

ผมก็เลยจะแก้แบบให้มีผนังด้านนึงเพิ่มเข้ามา
เพื่อเป็นแบ็คกราวด์และแขวนทีวี รวมถึงเครื่องปรับอากาศด้วย

ประตูกระจกด้านนี้แหละครับ ที่จะเปลี่ยนเป็นผนัง

เห็นมั้ยครับ !
ถ้าไม่กลับมาดูพิมพ์เขียว บ้านผมคงเหมือนบ้านอาจารย์แน่...

แต่ในบางส่วนของพิมพ์เขียวที่เป็น เรื่องของโครงสร้าง...
ผมเองก็ดูไม่เป็นหรอกครับ ก็เลยไหว้วานให้คนรู้จักกันที่เป็นวิศวกร
รวมทั้งฝากคอนซัลแทนซ์ให้ช่วยดูอีกทางหนึ่ง

ถึงตรงนี้ เพื่อนๆคนไหนที่มีพิมพ์เขียวอยู่ในมือแล้ว...
ลองไล่ดูพิมพ์เขียวไปทีละแผ่นนะครับ
พยายามทำตัวให้กลมกลืนไปกับบ้าน

บางทีอาจจะพบว่า...
ยังมีจุดเล็กจุดน้อยที่บางครั้งเรามองข้ามไปในตอนแรก
แล้วมาฉุกคิดได้ตอนเห็นพิมพ์เขียวก็ได้

ส่วนใครยังไม่มี หรือยังไม่เสร็จ
ก็รอต่อไปครับ ( ผมยังรอมาได้ตั้งหลายเดือน )

ล้อเล่นน่ะ J ก็ขอให้ได้แบบพิมพ์เขียวเร็วๆนะครับ

[email protected]

* สมัยก่อน การทำพิมพ์เขียว เค้าจะเขียนแบบลงบนกระดาษไขก่อน
ก่อนส่งให้ร้านรับทำ Blueprint ทำออกมาเป็นสีฟ้าๆ
แต่คนก็ยังเรียกพิมพ์เขียว

ปัจจุบันระบบการปริ๊นต์-ซีร็อกซ์ก็เข้ามาแทนที่
แถมสะดวกและถูกกว่า พิมพ์เขียวก็เลยกลายเป็นพิมพ์ขาว
เอ้ย! กระดาษขาวอย่างที่เห็นครับ

ของแถมครับ น่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ

ผมเอามาจากเว็ป/บทความของอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ 
จริงๆผมมีหนังสือนะ (ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง)
แต่จะพิมพ์ก็ยาวเหลือเกิน ไม่อยากตัดทอน 
เลยก็อปเอาตัวอย่างมาให้ดูครับ
จาก http://se-ed.net/winyou2/100_1000_1/index.htm

129. หากคุณได้พิมพ์เขียวมา 1 ฉบับ และมีเวลา 10 นาที
ทำอย่างไรจึงจะ(พอ) รู้ว่า
แบบพิมพ์เขียวก่อสร้างในมือคุณนั้น มีมาตรฐานเพียงไร ?

เป็นปัญหาที่ท้าทายและหาเรื่องมาก ๆ ปัญหาหนึ่ง
ในที่นี้สมมุติว่าคุณไม่ใช่สถาปนิก หรือวิศวกรเสียด้วย
แต่ต้องการตรวจเช็คจริง ๆ ก็ลองตรวจเช็คดังนี้ :

1. ดูหัวกระดาษว่ามีชื่อสถาปนิกหรือวิศวกรหรือเปล่า ?

2. ตรวจเช็คดูว่าแบบมีครบทุกแบบหรือไม่ ?
ทั้งแบบสถาปัตย์ แบบโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบบสุขาภิบาล และไฟฟ้า

3. ตรวจเช็คในผังใหญ่รวมทั้งโครงการ
ว่ามีการแสดงตำแหน่งของบ่อเกรอะ บ่อบำบัด
ทางระบายน้ำ และบ่อพักน้ำหรือไม่ ?

4. หากเป็นไปได้ (น่าเป็นไปได้)
ตรวจดูว่าบ่อน้ำหรือบ่อเกรอะในผังสุขาภิบาลนั้น สามารถวางลงได้จริง
กับแบบฐานราก (ติดฐานราก) ในแบบโครงสร้างหรือเปล่า ?
(มักเกิดกับโครงการใหญ่ ๆ ที่คนทำงาน ไม่ประสานงานกัน)

5. หากเป็นอาคารสูง ดูว่าช่องเปิดหมายเลขเดียวกันด้านนอกอาคาร
ชั้นล่าง ๆ กับชั้นที่เกินชั้น 15 ไป มีความหนาของกระจกเท่ากันหรือไม่ ?

6. หากเป็นอาคารสูง ดูที่ช่องบันไดชั้น 3 เป็นต้นไป (บันไดอยู่ในอาคาร)
มีช่องแสดงว่า เป็นช่องเครื่อง อัดอากาศ ครบทุกชั้นหรือไม่ ?

7. ตรวจดูผังเสาของแบบทุกชนิด (สถาปัตย์ โครงสร้าง ไฟฟ้า สุขาภิบาล)
ว่าตำแหน่งเสาในแบบ แต่ละชุดนั้น ตรงกันหรือไม่ ?

8. หากรู้เรื่องกฎหมายการก่อสร้างบ้างลองตรวจเช็คดูเช่น
ระยะถอยร่นทุกด้าน หรือ ช่องขนาด-จำนวน ช่องเปิด ของที่จอดรถ เป็นต้น

9. ตรวจเช็คในแบบสถาปัตยกรรมเรื่อง โครงสร้างที่อยู่บนพื้นดิน
เช่น ถนน รั้ว ลานเทอเรส ฯลฯ มีรายละเอียดแสดงในแบบโครงสร้างหรือไม่ ?
(ส่วนใหญ่มักจะลืม)

10. ดูความเรียบร้อยและการตั้งใจทำของแบบพิมพ์เขียว

หากมีการตรวจเช็คทั้ง 10 ข้อนี้ (ใน 10 นาที)
แล้วพบว่าผิดไปเกินกว่า 5 ข้อ ก็ขอให้ปลง

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com