ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 8
ปรับจูนแนวคิด เจ้าของบ้าน & สถาปนิก

ตอนคุยกันทางโทรศัพท์...
สถาปนิกเค้าบอกผมว่า จะนัดคุยกันครั้งแรกตามห้างหรือที่ที่เราสะดวกก็ได้
แต่ผมเลือกที่จะไปคุยที่ออฟฟิศเค้าครับ
เพราะอยากรู้หลัก แหล่งที่อยู่ของบริษัทเค้าด้วย
ซึ่งนั่นหมายถึงว่าผมต้องขับรถจากรามอินทราไปพุทธมณฑล
ระยะทางร่วม 40 กิโลเมตรเชียวนะนั่น

ถนนบรมราชชนนีมุ่งหน้าไปศาลายา ในวันที่แดดแรงสุดๆ ครับ

นานแล้วครับที่ไม่ได้ไปแถวนั้น
เดี๋ยวนี้ย่านนี้ยังคงความเป็นชานเมืองที่รถราคับคั่งอยู่เหมือนเดิม

ผมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงที่นัดหมายครับ
เป็นออฟฟิศเล็กๆ อยู่รวมกับโรงงานที่ทำงานไม้ภายนอก
คนงานทำงานกันง่วนไม่มีใครสนใจผมเลย

จนกระทั่งสถาปนิกเข้ามาทักทายเราสองคน
พร้อมกับเล่าว่าพึ่งย้ายออฟฟิศมาตั้งใหม่ เพื่อให้ใกล้กับโรงงานและติดถนนใหญ่
ภายในยังตกแต่งไม่เรียบร้อยนัก หลังจากแนะนำตัวกันเบื้องต้น
เราก็ย้ายที่คุยไปที่บ้านของสถาปนิกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศมาก

เราเล่าให้สถาปนิกฟังถึงความต้องการของเรา และงบประมาณที่มี
ขณะที่สถาปนิกก็อธิบายถึงแนวคิด รูปแบบและวิธีการทำงานของเค้า 
รวมถึงผลงาน และค่าออกแบบ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆอีกมากมาย
(ตรงนี้ถ้าเพื่อนๆ ทำการบ้านมาก่อน จะคุยกันง่ายขึ้นครับ)
ก่อนที่สถาปนิกจะเอาหนังสือสไตล์บ้านมาให้ดู

จำได้มั้ยครับว่า ตอนที่แล้ว ผมเล่าให้เพื่อนๆฟังว่า
บ้านในความคิดของเราจะออกมาในแนวไทยประยุกต์ หลังคามุงกระเบื้องไอยรา
แต่พอเราสองคนเห็นแบบบ้านสไตล์ Modern Tropical (เป็นแนวถนัดของสถาปนิกเค้า) ในหนังสือที่สถาปนิกเอามาให้ดู

เท่านั้นแหละครับ ปิ๊ง! ภาพบ้านของเราก็เปลี่ยนไป
( หน้ามือเป็นหลังเท้าเลยนะเนี่ย)
เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ผมชอบบ้านสไตล์โมเดิร์นอยู่แล้ว
แต่แฟนไม่ชอบบ้านที่ดูเป็นกล่องๆ

พอมาดูแบบบ้านสไตล์นี้ มันไม่ดูเดิร์นจนเกินไป
มีส่วนประกอบของวัสดุธรรมชาติเข้ามาแจมด้วย ทำให้ดูซอฟท์ขึ้น
(จริงๆ ผมรู้อยู่แล้วล่ะว่าสถาปนิกเค้าถนัดสไตล์นี้
ซึ่งผมก็ชอบ แต่แฟนนึกภาพไม่ออก เลยต้องพามาดู)

ตอนแรกผมกับแฟนก็ไม่แน่ใจนักในเรื่องการกันร้อนกันฝนของบ้านสไตล์นี้
แต่สถาปนิกก็อธิบายให้เรามั่นใจว่า
บ้านสไตล์นี้สามารถปรับให้เข้ากับภูมิอากาศบ้านเราได้
ด้วยการเพิ่มชายคา ระแนง กันสาด เพื่อให้กันแดดกันฝนได้

ขณะเดียวกันก็มีช่องแสงช่วยดึงแสงสว่างจากภายนอกเข้ามาไม่ให้มืด
มีฉนวนกันความร้อน มีประตูหน้าต่างที่เปิดรับลมจากภายนอกบ้านเข้ามาภายในได้
ทำให้ช่วยประหยัดไฟ ประหยัดแอร์ อีกทางหนึ่ง

เรากลับมาปรึกษากันอยู่ 2-3 วัน
ก่อนที่จะนัดสถาปนิกมาดูที่ดินเราในสัปดาห์ถัดมา พูดคุยถึงรายละเอียดที่ลึกขึ้น
วิถีชีวิตที่แต่ละคนทำในแต่ละวัน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
การวางแผนครอบครัวในอนาคต ว่าจะมีเจ้าตัวน้อยกี่คน
(แม่ผมยังไม่ซักผมขนาดนี้นะเนี่ย) ต้องการห้องอะไรบ้าง กี่ห้อง

รวมไปถึงอะไรที่อยากให้มีในบ้าน อะไรที่ไม่เอาเด็ดขาด
บางอย่างสถาปนิกก็แย้งเรา บางอย่างเราก็เห็นแย้งกับกับสถาปนิก
แต่ก็เป็นการทะเลาะกันทางความคิดครับ

พออธิบายเหตุผลที่เห็นต่าง เราก็หาข้อสรุปได้
บางอย่างถ้าผมยังติดใจ ก็จะเอากลับมาคิดมาปรึกษากับแฟนก่อน
แล้วค่อยโทรกลับไปคุยกับสถาปนิกทีหลัง 

ผมว่าไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ที่ความคิดเห็นของเรากับสถาปนิกจะไม่ตรงกัน
เพราะเจ้าของบ้านจะมีแต่ความอยาก อยากให้มีอันนั้น มีอันนี้
แต่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้ในเชิงสถาปัตย์และการก่อสร้างหรือเปล่า
หรือจะเกินงบที่ตั้งไว้หรือไม่ ?

ขณะที่สถาปนิกก็จะมีไอเดียสุดบรรเจิด
แต่ก็จะไม่รู้ว่า ไอเดียนั้นเจ้าของบ้านจะซื้อหรือไม่ซื้อ ชอบหรือไม่ชอบ

ดังนั้นการพูดคุยกันให้มาก ปรับจูนแนวคิดให้ไปในทางเดียวกัน
จะทะเลาะก็ทะเลาะกันตั้งแต่แรก ดีกว่ามาทะเลาะกันทีหลังครับ

หลังจากเซ็นสัญญาว่าจ้างแล้ว
ผมก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสถาปนิกไปคิดและออกแบบ
ส่วนตัวผมก็ทำได้แค่...รอ..รอ...รอ...แล้วก็รอ... ด้วยใจจดใจจ่อ
นั่งลุ้นกันสองคน ว่าบ้านจะออกมายังไง
จนในที่สุดแบบร่างขั้นต้นก็คลอดออกมา ....แอ่น.... แอ๊น.....

แบบร่างขั้นต้นของชั้นล่าง

แบบร่างขั้นต้นของชั้นบน

อ๊ะ... มันก็แค่กระดาษA4 สองใบ
ที่ขีดๆเขียนๆด้วยปากกาดำ เหมือนที่เราร่างเล่นเลยนี่หว่า
ฝีมือดีกว่าเรานิดเดียวเอง ( ยังไม่เลิกโม้ )

ผมคิดในใจ แต่อาจจะคิดดังไปนิด
สถาปนิกเลยบอกว่า “มันแค่ร่างครับพี่ ทำมาให้ดูก่อน เผื่อพี่จะแก้”

แก้แน่น้องเอ๋ย เพราะบ้านพี่ไม่จำเป็นต้องมีห้องคนใช้หรอก
เพราะ “คนใช้”บ้านพี่น่ะ เค้านอนห้องนอนใหญ่ ห้องเดียวกับ “คนรับใช้”
( ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แหะๆ ผมเองครับ )

สถาปนิกคงยังไม่รู้ว่าแฟนผมน่ะ เธอเขี้ยวขนาดไหน
เธอบอกไม่ต้องมีหรอกคนใช้ ให้ผมทำงานบ้านน่ะดีแล้ว
จะได้อยู่ติดบ้าน ( กลัวเราหนีเที่ยวนะสิ) 

เอ่อ... จริงๆแล้ว เอ่อ... ผมก็เห็นด้วยนะ
อ่า...แบบว่า...เอ่อ...ไม่ต้องมีคนใช้หรอกครับ ผมทำเองก็ได้ครับ
( กระซิบ : จุ๊ จุ๊ แฟนผมชำเลืองมาครับ )

อีกอย่าง ผมก็ไม่ชอบให้คนอื่นที่ไม่ใช่คนสนิทมาอยู่ในบ้านด้วย
เรามาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ทำอะไรด้วยตัวเองมาตลอด
ไม่เคยมีคนรับใช้มาก่อน เลยไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไหร่ครับ

รูปนี้เป็น การแก้ไขครั้งแรก ที่ผมร่างและสแกนส่งทางเมลล์ให้สถาปนิกครับ
หลักๆก็คือ ยุบห้องคนใช้(ซักรีด)รวมกับห้องน้ำ เป็นห้องเก็บของใหญ่ห้องเดียว

และหลังจากแก้นู่นแก้นี่อีกหลายครั้ง ทั้งทางโทรศัพท์ ทางอีเมลล์
หรือถ้าแก้หนักๆก็นัดเจอกันเลยก็มี
(สถาปนิกก็เหมือนจะประชด ผมบอกว่าเน้นห้องเก็บของนะ
แกก็เล่นทำซะ 3 ที่เลย ดีๆครับ ผมชอบ )
จนเป็นที่พอใจของทั้งคนใช้และคนรับใช้ตัวจริงของบ้าน

แบบบ้านของเราสองคนก็ออกมาอย่างที่เพื่อนๆเห็นครับ

ภาพจริง เอ๊ย ภาพจำลอง บรรยากาศจำลองของบ้านผมครับ

รูปนี้เอารั้วออก ให้ดูตัวบ้านและพื้นที่ครับ
ส่วน Jeep กับ Benz น่ะ จำลองเหมือนกันครับ 555

แม้จะไม่สามารถมีบันไดนอกบ้านได้ ( ยังติดใจไม่เลิก)
แต่การโน้มน้าวแฟนผมให้เปลี่ยนใจจากบ้านหลังคารูปว่าว
มาเป็น Modern tropical หลังคาสแลบ และมุงเมทัลชีทได้
ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ
( ทุกวันนี้ คุยกับผมแต่เรื่อง อลูมิเนียม กระจกตัดแสง เมทัลชีท ไปนู่น
สงสัยสะกดคำว่า ไอยราไม่เป็นแล้วมั้ง)

รูปบ้านด้านอื่นๆ จะทยอยๆมาลงให้ชมในตอนต่อๆไปครับ

ขอเสริมนิด ในส่วนของการคัดเลือกสถาปนิก การทำสัญญาว่าจ้างสถาปนิก
กับ ค่าออกแบบครับ (บางส่วนอ้างอิงจากหนังสือ รู้จัก... สถาปนิก ครับ)

ในความเห็นส่วนตัวของผม...
การดูผลงานอ้างอิง หรือ portfolio ของสถาปนิก มีความสำคัญมาก
จะทำให้เราได้รู้ถึง แนวถนัด ของเค้า ว่าโดนใจเรารึเปล่า

จริงๆผมเชื่อว่าสถาปนิกทุกคนก็คงออกแบบบ้านได้ทุกแนวทุกสไตล์
แต่มันก็ต้องมีสไตล์ที่เค้าชอบหรือถนัดเป็นพิเศษบ้างล่ะ
ถ้าเราไปจ้างสถาปนิกออกแบบในสไตล์ที่เค้าไม่ถนัด
บ้านที่ได้ก็อาจจะออกมาดี แต่จะไม่เต็มศักยภาพของสถาปนิกท่านนั้น

เหมือน เวลาเราไปสั่งข้าวผัดกับร้านที่ขึ้นชื่อเรื่องราดหน้า
ข้าวผัดก็คงอร่อย แต่จะให้อร่อยเหมือนลาดหน้าคงเป็นไปไม่ได้

แต่พอร์ตโฟลิโอเพียงอย่างเดียว คงยังไม่ใช่คำตอบ
เพราะในการออกแบบและสร้างบ้าน เราต้องคอนแทคกับสถาปนิกไปอีกนาน

ถ้าเราได้สถาปนิกที่พูดคุยกันรู้เรื่อง คุยกันถูกคอ สื่อสารกันเข้าใจ งานก็จะราบรื่น
การได้พบปะพูดคุยกับสถาปนิกหลายๆครั้ง จะพอให้เราดูออกว่าน่าจะคลิ๊กรึเปล่า
ยิ่งถ้าได้พูดคุยกับลูกค้าเดิมของสถาปนิก ก็จะยิ่งได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องค่าออกแบบ ตอนแรกผมเองก็เคยกลัวว่าการไปจ้างสถาปนิกเนี่ย จะแพงรึเปล่า? แต่พอมาอ่านหนังสือพบว่า...
ค่าออกแบบหรือค่าบริการวิชาชีพมีมาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯกำหนดอยู่แล้ว
อยู่ที่ 5-7% ของราคาบ้านที่ประเมินไว้ 

ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เราต้องจ่ายทีเดียวทั้งก้อน
แต่จะมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามเนื้องาน
โดยมีสัญญาว่าจ้างระบุไว้ ถึงขอบเขตการทำงานและความรับผิดชอบของสถาปนิก
(มีแนวทางปฏิบัติของสมาคมกำหนดอยู่ แต่ต่อรองกันได้ครับ)

ก็มีคนถามผมหลายคนเหมือนกันว่า ทำไมถึงยอมจ่ายค่าออกแบบตรงนี้
ไปจ้างบริษัทรับสร้างบ้านไม่ดีกว่าเหรอ ฟรีค่าออกแบบ
หรือบางคนบอก ไปจ้างช่างเขียนแบบทั่วไปก็ได้ ถูกกว่าอีก

ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละครับ บ้านมันถึงได้ออกมาเหมือนๆกันแทบทุกตรอกซอกซอย
ผมไม่ได้ว่าบ้านพวกนี้มันโหลนะ (แม้จะดูเหมือนว่าก็เหอะ)
แต่ผมเชื่อว่า ในโลกนี้ ของฟรีไม่มี ของดีไม่ถูก

ที่เขาบอกว่าฟรี ก็คงบวกไปในราคาสร้างบ้านแล้วล่ะ
หรือถ้าจ้างช่างเขียนแบบถูกๆ เราก็จะได้บ้านพื้นๆ
ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเรา

ซึ่งผมยอมที่จะจ่ายในส่วนนี้ เพื่อให้บ้านที่จะต้องอยู่ไปอีกหลายสิบปี
เป็นบ้านที่ถูกใจเราสองคนมากที่สุดในทุกๆวัน
ผมคงทนไม่ได้ที่จะต้องทนอยู่ในบ้านที่ไม่ถูกใจเป็นสิบๆปี
เพียงเพราะอยากประหยัดเงินในการออกแบบ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นกับงบประมาณของเจ้าของบ้านด้วย ถ้างบน้อย ก็คงต้องประหยัด
แต่ถ้าพอมีงบประมาณ ผมคิดว่าควรให้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญออกแบบให้
จะได้บ้านที่เหมาะกับตัวเราและสภาพที่ดินของเราที่สุดครับ

 

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน



ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com