ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

สร้างบ้านสักหลัง ว่าจ้างใครดี..?

 


โดย ลุงทอม

ปรับปรุงเนื้อหา เมื่อ 16 มีนาคม 2559

ตอนที่ 3 จ้างผู้รับเหมา แบบเทิร์นคีย์ (3)

ข้อด้อย ของการว่าจ้างผู้รับเหมาแบบเทิร์นคีย์


1. มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าบริษัทรับสร้างบ้าน

ผู้รับเหมาลักษณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมารายย่อย ดังนั้นความน่าเชื่อถือจึงมีน้อยกว่า บริษัทรับสร้างบ้าน

ลูกค้าสร้างบ้านส่วนใหญ่จะมองหาผู้รับเหมาที่ทำงานในรูปบริษัท
โดยคิดเอาเองว่า "บริษัท" มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ผู้รับเหมาที่รับงานในรูปบุคคล

ผู้รับเหมาก็รู้ครับว่า...
ลูกค้าสร้างบ้านต้องการผู้รับเหมาที่ทำงานในรูปบริษัท หลายคนจึงไปจดทะเบียนบริษัท มาไว้ให้ลูกค้าสร้างบ้านดู

ลูกค้าสร้างบ้านเห็นว่าผู้รับเหมามีหน่วยงานที่กำลังก่อสร้างอยู่และเป็นรูปบริษัทด้วย จึงเกิดความเชื่อถือ

การเจรจาส่วนใหญ่ จึงไม่ได้ไปที่บริษัทของผู้รับเหมา ลูกค้าสร้างบ้านจึงไม่รู้ว่า
ผู้รับเหมาบางรายทั้งบริษัทมีแต่ผู้รับเหมาคนเดียว


2. โอกาสในการทิ้งงานกลางคัน มีสูงกว่าบริษัทรับสร้างบ้าน

ผู้รับเหมาหลายคนทุนน้อย เอาเงินมัดจำสัญญาของลูกค้าสร้างบ้านมาทำการก่อสร้างบ้าน ความมั่นคงมีน้อยกว่าบริษัทรับสร้างบ้าน ซึ่งหลายบริษัทมีอายุธุรกิจหลายปี

โอกาสที่จะทิ้งงานจึงมีมากกว่า บริษัทรับสร้างบ้าน


3. ลูกค้าสร้างบ้านต้องจ่ายเงินมัดจำสัญญา 10-15 %

การจ่ายเงินมัดจำสัญญาเป็นธรรมเนียมที่มีมาช้านานในวงการรับสร้างบ้าน ลูกค้าที่จ่ายเงินมัดจำสัญญาจะอยู่ในสภาพที่ "จ่ายก่อน ผู้รับเหมาทำงานให้่ทีหลัง" เกือบทุกงวด ยกเว้นงวดสุดท้าย

ผลของมันก็คือ หากมีอะไรเกิดขึ้น ลูกค้าสร้างบ้าน "เสียเปรียบ" !
สมมุติว่าผู้รับเหมาทำงานออกมาชิ้นหนึ่ง ลูกค้าสร้างบ้านไม่พอใจ แต่ผู้รับเหมาบอกว่า
ที่ทำมานี่ "ใช้ได้แล้ว" ลูกค้าสร้างบ้านจะเอาอะไรไปแย้งเขา

ท่านที่ได้อ่านบทความของผมแล้วอาจจะคิดว่า..
"เออ..ก็ดีเหมือนกัน เดี๋ยวเราไปต่อรองผู้รับเหมา แบบไม่ต้องจ่ายเงินมัดจำสัญญาบ้าง"
ซึ่งผมก็เชื่อว่า ผู้รับเหมาก็คงจะ "เอาด้วย"กับเงื่อนไขไม่จ่ายเงินมัดจำสัญญา
แต่สรุปแล้ว ท่านก็จะยังคงเสียเปรียบอยู่ดีแหละ เพราะเมื่อท่านเพ่งเล็งตรงจุดนี้

ผู้รับเหมามีอีกหลายช่องทางที่จะได้เปรียบท่าน


4. การแบ่งงวดงานสร้างบ้าน ผู้ว่าจ้างเสียเปรียบ

การแบ่งงวดงาน แบ่งคล้ายๆกับของบริษัทรับสร้างบ้าน มีจุดสังเกตุอยู่ 2 ข้อคือ

หนึ่ง ช่างแรกๆได้เงินมากกว่าเนื้องาน ช่วงหลังๆเนื้องานมากกว่าเงินที่ได้รับ

สอง เนื้องานในงวดงานไม่ระบุไว้อย่างละเอียด เปิดช่องให้ยังไม่ต้องทำงานในส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้ (ถึงแม้เวลานั้นจะ "ทำได้" ก็ตาม)

ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ ลูกค้าสร้างบ้านเสียเปรียบผุ้รับเหมา


5. หาก "โดนทิ้งงาน" หรือ "ยกเลิกสัญญากลางคัน" ลูกค้าสร้างบ้านเสียหายเยอะมาก

ถ้าสังเกตุดีๆหลังงวดงานที่มีการฉาบผนังจะเหลือเงินค่างวดไม่มากนัก ซึ่งในจังหวะนี้แหละเป็นจังหวะที่ต้องใช้เงินซื้อวัสดุจำนวนมาก ไหนจะค่าวัสดุปูผิวพื้น ค่าร้อนสายไฟฟ้า ค่าประตูหน้าต่าง ค่าทำฝ้าเพดาน ค่าสุขภัณฑ์ ค่าดวงโคมสวิทช์ปลั๊ก ค่าทำงานสุขาภิบาลนอกบ้าน ค่าวัสดุปูผิวพื้นบันไดและราวกันตก และค่าทำสี

สำหรับบ้านราคาประมาณสักสามล้าน อาจต้องหาเงินมาโป๊ะมากกว่าหกแสนบาท หากโดนผู้รับเหมาทิ้งงานช่วงหลังฉาบปูน หรือมีความขัดแย้งกันจนถึงขั้นที่ต้องยกเลิกสัญญา

ไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่า อีก 3-6 เดือนข้างหน้า ผู้รับเหมาที่การเงินดี คนงานเยอะแยะจะกลายเป็นผู้รับเหมาที่ไม่มีศักยภาพ หมดเงินทุน คนงานแทบไม่เหลือ

ปัจจัยผู้รับเหมา คือปัจจัยที่ ผู้ว่าจ้างควบคุมไม่ได้

ระหว่างการทำงานให้กับผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมาอาจไปเสียการพนันที่ไหนมา หรือ ทำงานที่หน่วยงานอื่นแล้วเก็บเงินไม่ได้ พอๆกับไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่า จะโดนทิ้งงานเมื่อไร !!


6. เสียเปรียบเรื่องสัญญา

ตอนเซ็นสัญญาสร้างบ้าน ผู้ว่าจ้างมักจะเป็นฝ่ายให้ผู้รับจ้างเอาร่างสัญญาสร้างบ้านให้ตรวจสอบ ผู้ว่าจ้างจะแก้ไขในส่วนที่ตนเองคิดว่าเสียเปรียบ

แต่มันไม่พอหรอกครับ..
เพราะถึงแม้ผู้ว่าจ้างจะแก้ไขแล้วก็ตาม สัญญาสร้างบ้านนั้น ก็ยังคงมีช่องโหว่ ที่จะทำให้ผู้รับเหมาได้เปรียบเจ้าของบ้าน !


7. อำนาจในการต่อรองของลูกค้าสร้างบ้านต่ำกว่าผู้รับเหมา

จ่ายเงินมัดจำสัญญา แบ่งงวดงานแบบได้เงินเยอะกว่าเนื้องาน สัญญาสร้างบ้านเสียเปรียบ เหล่านี้ล้วนทำให้ลูกค้าสร้างบ้านเสียเปรียบผุ้รับเหมา

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป-

ต้องการดูทางเลือกอื่น ในการว่าจ้างสร้างบ้าน คลิกที่นี่

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

 

ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา ฟรี

ไปหน้าสารบัญ
เรื่องน่ารู้ เมื่อเตรียมการสร้างบ้าน

ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com