ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 45
ไม่อยากซึม . . . . . . อ่านทางนี้

เวลาที่เรารอคอยอะไรนี่ รู้สึกมั้ยครับ
ว่าเวลามันช่างยาวนานจริงๆ ไม่ว่าจะ.............
ยืนต่อแถวรอกด ATM (ในวันเงินเดือนออก)
ยืนต่อคิวจะเข้าห้องน้ำ (ในตอนที่ปวดสุดๆ)

ไม่ได้หยาบคายนะครับ เห็นป้ายนี้ แล้วเห็นใจคนคอย แต่ก็อดขำไม่ได้
(ขออภัย จำชื่อเว็ปที่ก็อปรูปมาไม่ได้)

ยืนรอจ่ายตังค์ค่าบัตรเครดิต(โดยเฉพาะยี่ห้ออิออน ตอนต้นเดือน)
ยืนรอรับแฟนหน้าปล่องรถไฟฟ้า (อันนี้ ประชดหมอผึ้ง)
ยืนรอตรวจหน้าห้องหมอ (รอตรวจกับหมอ นานนิด โปรดให้อภัย)
เห็นด้วยกับผมมั้ยครับ ว่ารอนานจริงๆ

เรื่องสร้างบ้านก็เหมือนกัน เวลาผ่านไป 2 เดือนเอง
แต่ทำไม้....ทำไม ผมรู้สึกว่ามันยาวนานจัง
กว่าคานจะวาง กว่าพื้นจะปู กว่าเสาจะโผล่

ยิ่งมาเจอวันหยุดยาวช่วงปีใหม่...
ซึ่งทางหมู่บ้านผมเค้าให้ทุกไซต์งานหยุดทำงานตั้งแต่ 30 ธันวา
( แต่ 29 คนงานก็ไม่อยู่แล้วล่ะ ) ห้ามคนงานพักในไซต์
และจะกลับมาทำงานได้หลังวันที่ 6 มกรา เป็นต้นไป

ผมงี้.....เซ็งเลย

หลังปีใหม่อันยาวนานผ่านพ้นไป คนงานค่อยๆทยอยกลับมาทำงานทีละสองสามคน
กว่าจะเข้าที่เข้าทาง ก็อีกสามสี่วันถัดมา

“ หลังจากนี้ งานจะเดินหน้าเต็มที่แล้วครับ คุณหมอ ”
ผู้รับเหมาคงจะปลอบใจผม

“ ก่อนจะไปหยุดอีกที ช่วงสงกรานต์ใช่มั้ย ” เป็นไงล่ะ เจอคนรู้ทัน
ทำเอาผู้รับเหมาถึงกับอึ้ง “ บ้านเราก็เป็นอย่างนี้แหละครับ
คนงานจะกลับต่างจังหวัดกันช่วงวันหยุดยาว ”
“ ยังไงทางเราจะเร่งงาน ให้ทันตามกำหนดครับ”

หลังจากนั้น คนงานก็กลับมาตั้งไม้ค้ำยัน
ทำแบบหล่อคานชั้นสอง ต่อจากที่ทิ้งไว้ก่อนจะหยุดยาว
บรรยากาศบ้านผมกลับมาเหมือนตลาดนัดอีกครั้ง
คนงานเดินกันขวักไขว่ คึกครื้นดี ผมชอบ

หลังจากกลับไปชาร์ตแบตมาเต็มที่ คนงานก็ลุยงานกันต่อ

ส่วนนี้เป็นกันสาดพื้นหล่อในที่

พอตีท้องพื้นด้วยแผ่นไม้อัดเสร็จ ก็จะผูกเหล็กเสริมคอนกรีต

ก่อนจะเทคอนกรีตที่ผสมน้ำยากันซึมมาแล้วจากแพลนท์

หลายคนคงสงสัยว่า น้ำยากันซึมมีไว้ทำไม
ทำไมต้องใส่น้ำยากันซึม หา ..... ไม่สงสัยเหรอ

เอาน่า....ผมอยากเล่า ช่วยฟังๆกันหน่อยเถอะ

พลีส....... 

น้ำยากันซึม ไม่ได้มีไว้รักษาโรคซึม โรคเศร้า แต่ประการใด
แต่เค้าใช้กันเพื่อป้องกันการรั่วซึมของพื้นคอนกรีต พื้นดาดฟ้าหรือพื้นห้องน้ำครับ

“ มันวิเศษขนาดนั้นเลยเหรอพี่” หมอผึ้งถามผม
“ นั่นสิ ”
“ เดี๋ยวจะลองหาข้อมูลดู ”

ด้วยความขี้สงสัย ผมก็เลยหาข้อมูลว่า เจ้าน้ำยาที่ว่านี่ มันกันซึมได้ยังไง
มีทั้งถามคนนู้นคนนี้บ้าง หาตามเว็ปบ้าง ทำให้พอเข้าใจเจ้าน้ำยากันซึมมากขึ้น

ว่าแท้จริงแล้ว น้ำยากันซึม ตัวมันเองมันไม่ได้ไปทำให้น้ำไม่ซึมแต่อย่างใด
แต่มันไปทำให้เนื้อคอนกรีตเหลวตัวโดยที่ไม่ต้องใช้น้ำมาก
ทำให้มีรูโพรงในคอนกรีตน้อยลง พูดง่ายๆว่า
เนื้อคอนกรีตจะเนียนเป็นเนื้อเดียว ว่างั้นเถอะ

การที่เนื้อคอนกรีตสม่ำเสมอเป็นเนื้อเดียวกัน
นอกจากจะมีกำลังหรือความแข็งแรงของคอนกรีตสูง
ยังจะได้ความสามารถในการป้องกันการซึมของน้ำอีกด้วย
เรียกว่า ได้ประโยชน์ 2 ต่อ

แต่ถ้าใช้น้ำยากันซึมมากไป ก็ไม่ได้เป็นผลดีนะครับ
เพราะจะทำให้คอนกรีตไม่แข็งตัว หรือถ้าผสมไม่ถูกวิธี
น้ำยาก็จะไม่กระจายตัว คอนกรีตก็จะแข็งตัว-ไม่แข็งตัวเป็นหย่อมๆ

ใครให้ผู้รับเหมาเทพื้นส่วนที่ต้องใส่น้ำยากันซึม อย่าลืมเน้นย้ำตรงนี้ด้วยนะครับ

สำหรับบ้านผม ขี้เกียจมานั่งเฝ้า
ก็เลยให้ CPACเค้าผสมน้ำยามาจากแพลนท์เลย
เพราะเค้ามีสูตรผสม และมีการเก็บตัวอย่างคอนกรีตมาเทสท์

ที่บ้านผมใช้รถปูนที่มีรางเลื่อน ส่งต่อคอนกรีตขึ้นที่สูงครับ 

คอนกรีตจะมาตามราง หล่นปุ๊ตรงพื้นแบบเลย ไม่ต้องให้คนหิ้วให้เสียเวลา

ขั้นตอนการทำคาน เสาชั้นสอง พื้นชั้นสอง
ก็จะคล้ายๆกับตอนทำชั้น1 ซึ่งกินเวลามาก
(ย้อนกลับไปอ่านตอนก่อนหน้านี้ดูครับ )

ต่างกันแค่อยู่สูงขึ้น ก็เลยต้องมีไม้ค้ำยันเยอะหน่อย
เพราะฉะนั้นจะขอรวบรัดตัดตอนไปเลยนะครับ

ในเวลาต่อมา....อาฮ้อย อาฮ้อย 

เวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก ทั้งเสาทั้งพื้นก็โผล่มา

ที่สำคัญสำหรับพื้นชั้นสองก็คือ ค้ำยันครับ

พื้นไม้ค้ำยันจะต้องไม่ถอดออกก่อนเวลาอันควรนะครับ
เพื่อให้คอนกรีตมีความแข็งแรงเต็มที่เสียก่อน

สำหรับท้องคานและแผ่นพื้น กำหนดให้ค้ำไว้ 3 สัปดาห์
ถึงจะอนุญาตให้ถอดได้ ดังนั้น 3 สัปดาห์ที่ต้องรอ
ก็เลยจะเห็นแต่ไม้ค้ำยันเต็มบ้านไปหมด

ผมเอง เดินไปเดินมา หัวโขกบ้าง สะดุดบ้าง ไปหลายทีแล้ว

ใกล้ๆหมู่บ้านผม มีหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง
(ไม่ขอเอ่ยชื่อ แต่บอกได้ว่า โด่งดังมากๆ )
ถอดไม้ค้ำยันเร็วมาก จากที่สร้างทีหลังผม ถึงตอนนี้สร้างไปถึงไหนๆ แล้ว
( บ้าน3ชั้นนะครับ ขอบอก )

ขับรถผ่านทีไร เสียวแทนคนที่จะมาซื้อจริงๆเลย

ถึงตอนนี้ เริ่มรู้สึกแล้วว่า ดีแล้วล่ะ ที่ไม่ไปซื้อบ้านโครงการ
เค้าสร้างอย่างไร เราควบคุมไม่ได้จริงๆ

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com